หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
1. ความสำคัญ
1.1 บทบาทของการศึกษาในกระแสโลกาภิวัตน์
การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา “คน” อันเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของสังคม ให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย การศึกษาจึงต้องเป็นพลวัต นั่นคือ ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันและสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติและสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา
ในสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี สื่อสาร คมนาคม การรับส่งข้อมูล และวิทยาการต่างๆการแพร่ขยายของวัฒนธรรมข้ามชาติ รวมถึงการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ และการค้าระดับโลกในระบบการค้าเสรี จากการที่ประเทศพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านต่างๆ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นที่จะรับรองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลก ความสามารถที่จะรับถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะของฝีมือแรงงาน หรือการเตรียม “คน” ให้มีคุณภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในสังคมอย่างรุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมไทยหันมาทบทวนการจัดการศึกษาใหม่ เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศอย่างแท้จริง สามารถนำพาชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป
1.2 เป้าหมายของการจัดการศึกษาในสังคมยุคใหม่
การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาอันจะนำสังคมไปสู่ความสำเร็จในอนาคต การพัฒนาสังคมให้มีคุณลักษณะที่ต้องการนั้นจะต้องกำหนดเป้าหมายก่อนว่าจะให้สังคมยุคใหม่มีคุณลักษณะอย่างไรแล้วจึงใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือนำไปสู่เป้าหมายนั้น
สภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องมีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา “คน” ให้มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นในยุคโลกาภิวัตน์ และเอื้อต่อการพัฒนา “ปัจจัย” ต่างๆอันเป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ทั้งนี้สังคมไทยยุคใหม่น่าจะมีลักษณะต่อไปนี้
1.เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ คนทุกคน องค์กรทุกองค์กรจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลาให้ทันกับโลกแห่งยุคข้อมูลข่าวสาร โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆตลอดจนสถาบันทางศาสนา ชุมชน ครอบครัว และสื่อมวลชน จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา แต่โดยส่วนรวมตลอดชีวิตของคน และโดยส่วนรวมของชาติ ระบบการศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมห้คนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง (Sef-Leaning) และองค์กรมีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้เสมอ (Learning Organization)
2. เป็นสังคมที่ก้าวทันและร่วมมือกับสังคมโลก โลกปัจจุบันเปิดกว้างเป็นยุคแห่งโลกไร้พรมแดนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา สังคมไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จะต้องพัฒนาตนให้รู้เท่าทันและปรับตัวเองให้ทันยุค ทันโลก การศึกษาจะต้องส่งเสริมให้คนไทยมีโลกทัศน์ข้ามวัฒนธรรมเป็นโลกทัศน์กว้างไกล เพื่อให้มีสมรรถภาพที่จะแข่งขันและร่วมมือกับประชาคมโลกได้อย่างสันติ อยู่ร่วมกับชนชาติต่างๆได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืน โดยคงไว้ซึ่งความเป็นไทย
3. เป็นสังคมของคนดี ลักษณะที่สำคัญของสังคมนอกจากจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ฝึกให้คนคิดเป็นแล้ว ยังต้องมุ่งให้คนเป็นคนดี เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม มีความรู้ มีศักยภาพเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และมีคุณธรรมครบถ้วนตามหลักศาสนาที่นับถือ
1.3 คุณลักษณะของประชากรไทยในยุคโลกาภิวัตน์
เป้าหมายของการจัดการศึกษา นอกจากจะมุ่งสร้างสรรค์สังคมให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยรวมแล้ว ยังมุ่งสร้าง “คน” หรือ “ผู้เรียน” ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของการศึกษาให้มีคุณลักษณะที่มีลักษณะที่มีศักยภาพและความสามารถที่จะพัฒนาตนเองและสังคมไปสู่ความสำเร็จได้ คุณลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย
1. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีคุณลักษณะใฝ่รู้ ใฝ่เรียนและรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
2. มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. มีความสามารถที่จะรับ ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม
4. มีความสามารถในการแก้ปัญหาและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ
5. รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ
6. ตระหนักในการมีส่วนร่วมที่จะรักษาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การปกครองระบอบประชาธิปไตยและคุณธรรมตามหลักศาสนา
1.4 การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนา “ผู้เรียน” : ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
การพัฒนาประชากรไทยให้มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น จะต้องใช้ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือ วิธีการสำคัญที่สามารถสร้างและพัฒนา “ผู้เรียน” ให้เกิดคุณลักษณะต่างๆที่ต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิดการจัดการศึกษานี้เป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ ที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวข้างต้นได้ผล
2. ปรัชญาการศึกษาที่เป็นพื้นฐานของแนวคิด
มีปรัชญาการศึกษาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังสรุปได้ดังนี้
2.1 ปรัชญาพิพัฒน์นิยม (Progressivism)
การศึกษาตามปรัชญานี้ มองว่าการศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม อาชีพ และสติปัญญา โดยจัดให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจ ความถนัดและคุณลักษณะของเขา สิ่งที่เรียนควรเป็นประโยชน์สัมพันธ์สอดคล้องกับชีวิตประจำวันและสังคมของผู้เรียนให้มากที่สุด รวมทั้งส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยทั้งในและนอกห้องเรียน บทบาทครูในปรัชญาสาขานี้คือ เตรียม แนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เข้าใจและเห็นจริงด้วยตนเอง ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ตรงตามความสนใจของผู้เรียน เหมาะสมสอดคล้องกับความถนัดและความสามารถของผู้เรียนให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกับคนอื่นได้มากขึ้นด้วย
2.2 ปรัชญาปฏิรูปนิยม(Reconstructionism)
เป็นรูปแบบและแนวคิดที่พัฒนามาจากปรัชญาพิพัฒนิยม จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาตามปรัชญานี้คือ การศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อการปรับปรุง พัฒนาและสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีและเหมาะสมกว่าขึ้นมา ครูในปรัชญานี้ต้องเป็นนักบุกเบิก เป็นนักแก้ปัญหา สนใจและใฝ่รู้ในเรื่องของสังคมและปัญหาสังคมอย่างกว้างขวางและเอาจริงเอาจังในขณะเดียวกันต้องมีทักษะการรวบรวมสรุปและวิเคราะห์ปัญหา มีความเป็นประชาธิปไตย เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันคิดพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ส่วนผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในคุณค่าของสังคม เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคมในอนาคต ผู้เรียนจะได้รับการฝึกฝนให้รู้จักเทคนิคและวิธีการต่างๆที่จะทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาของสังคมในแนวทางประชาธิปไตย
2.3 ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism)
ปรัชญาการศึกษานี้ เห็นว่ามนุษย์ควรมีสิทธิและโอกาสที่จะเลือกสรรสิ่งต่างๆด้วยตัวของเขาเองมากกว่าที่จะให้ใครมาป้อนหรือมอบให้ ดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาคือการมุ่งมั่นพัฒนาให้คนมีอิสรภาพและมีความรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะเป็นผู้เลือกเอง ครูเป็นเพียงผู้กระตุ้นส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะมีโอกาสรู้จักตนเอง รู้เป้าหมายที่ตนเองต้องการและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน
2.4 ปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธศาสตร์(Buddhistic Philosophy of Education)
ปรัชญานี้อิงคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยอาศัยหลักไตรสิกขา คือ ศิล สมาธิ ปัญญา ในการอธิบายเรื่องราวของชีวิต โลก และปรากฏการณ์ต่างๆโดยมีความเชื่อว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะสามารถขจัดกิเลสและควบคุมพฤติกรรมของตนให้เป็นไปในแนวทางที่ดีได้ การเรียนการสอนตามแนวทางนี้มุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือกระทำเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยจัดให้เรียนรู้เพื่อให้เกิดปัญญาด้วยกระบวนของการรับรู้ข้อมูลต่างๆอย่างหลากหลาย หรือการคิดวิเคราะห์และการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ครูมีบทบาทเป็นผู้ให้การศึกษา หรือผู้ช่วยให้ผู้เรียนเกิดปัญญา หรือเกิดการเรียนรู้ และทำตนเป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง
แนวความคิดทางด้านการเรียนรู้มีอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษา และครูผู้สอนในการกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอน สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีแนวคิดสนับสนุน ดังนี้
3.1 แนวความคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism or S.R. Associationism)
นักวิจัยกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมและประสบการณ์จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการสอบสนอง การแสดงพฤติกรรมจะมีความถี่มากขึ้นหากได้รับการเสริมแรง
นักทฤษฎีคนสำคัญ คือ Burphus F. Skinner ผู้เป็นเจ้าของความคิดเรื่อง Operant Conditioning และ Teaching Machine โดย Skinner เห็นว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเพราะครูมักสนใจแต่เรื่องผลการเรียนโดยไม่คำนึงวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ บทเรียนสำเร็จรูปจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดการเรียนการสอนเพราะสามารถเสริมแรงได้ทันท่วงที นักเรียนสามารถทำงานได้ตามลำพัง รู้สึกเป็นอิสระ รู้จักการพึ่งตนเองและมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
3.2 แนวความคิดของกลุ่มพุทธนิยม(Cognitivism)
นักจิตวิทยากลุ่มนี้มองว่า คนทุกคนมีธรรมชาติภายในที่ใฝ่ใจใคร่รู้ใคร่เรียน เพื่อก่อให้เกิดสภาพสมดุล ดังนั้นการที่เด็กได้มีโอกาสเลือกเรียนตามความต้องการและความสนใจของตนเองจะเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเด็ก
นักจิตวิทยาคนสำคัญของกลุ่ม คือ Jerome S.Bruner ซึ่งให้ความสนใจอย่างมากกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Discovery ในการจัดการเรียนการสอนถ้าครูช่วยให้ผู้เรียนมองเห็น “โครงสร้าง(Structure)”ของสิ่งที่จะเรียนจะช่วยให้จำสิ่งที่เรียนได้ดีสามารถทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้อีกมากมาย ครูควรตั้งประเด็นให้ผู้เรียนค้นคว้าหาคำตอบ ซึ่งอาจจะเป็นการค้นคว้าตามลำพัง หรือเป็นกลุ่ม ซึ่งการให้เด็กค้นคว้าหาคำตอบนั้นไม่เพียงแต่ฝึกเขาให้มีทักษะในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่จะเป็นการช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถในการเรียนเรียนรู้ของตน ซึ่งจะทำให้เขาเป็นนักแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต
3.3 แนวความคิดของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
นักจิตวิทยากลุ่มนี้คำนึงถึงความเป็นคนที่มีอิสระ สามารถที่จะนำตนเองและพึ่งตนเองได้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทำประโยชน์ให้สังคม มีอิสรภาพในการเลือกทำสิ่งต่างๆที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน ในการจัดการการสอน กลุ่มนี้เสนอแนะว่าควรให้เด็กมีสมมรรถภาพทั้ง 3 ด้าน ไปพร้อมๆกัน คือ ด้านความรู้(Cognitive) ด้านเจตคติ(affective) และด้านทักษะ(Psychomotor) นั่นคือ ครูควรฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล มีความชื่นชมหรือมีเจตคติที่ดีต่อสิ่งที่เรียน และให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง
นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้
Abeaham H.Maslow ผู้มีความเชื่อว่า หากเราให้อิสรภาพแก่เด็ก เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง พ่อแม่และครูควรไว้วางใจในตัวเด็ก เปิดโอกาสและช่วยให้เด็กเจริญเติบโตต่อไป ไม่ควรควบคุม หรือบงการชีวิตเด็กให้เป็นไปตามที่ต้องการ
Carl R.Rogers ซึ่งได้นำหลักการของ Client-Centred มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยเสนอแนะการจัดการเรียนการสอนที่ให้ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และได้กล่าวถึงลักษณะของครูผู้สอนว่าครูจะต้องเชื่อและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ความเชื่อและความไว้วางใจจะช่วยให้บุคคลพัฒนาศักยภาพของตน ครูต้องจริงใจ ไม่เสแสร้ง และต้องพยายามสื่อให้ผู้เรียนทราบถึงความรู้สึกนึกคิดด้านที่ดีที่ครูมีให้เขา รวมทั้งการให้เกียรติผู้เรียนทั้งในแง่ความรู้สึกและความคิดเห็น
Arthur W.Combs ผู้มีความคิดว่าหลักการสำคัญของการจัดการเรียนการสอน คือการช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองในทางบวก งานของครูคือการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน กระตุ้นให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ เป็นผู้ร่วมคิดและเป็นเพื่อนกับผู้เรียน
3.4 แนวความคิดของกลุ่ม Constructivist
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาธรรมชาติของการเรียนรู้ ซึ่งเดิมมุ่งศึกษาจากปัจจัยภายนอกของผู้เรียน ได้แก่ ตัวแปรเกี่ยวกับครู บุคลิกภาพของครู การแสดงออก ความกระตือรือร้นและการให้คำชมเชยได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการมุ่งศึกษา ปัจจัยภายในของผู้เรียน ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิมของผู้เรียน มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน ความจำ ความสามารถในการจัดกระทำข้อมูล การเสริมแรง ความตั้งใจ และแบบแผนทางปัญญา จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยภายในมีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และความรู้เดิมมีส่วนเกี่ยวข้องและเสริมสร้างความเข้าใจของผู้เรียน ความรู้นี้ไปสอดคล้องกับแนวคิดของปรัชญา Constructivist ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้าง(Construct) มีความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่อยู่เดิม พยายามที่จะนำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ และปรากฏการณ์ที่ตนพบเห็นมาสร้างเป็นโครงสร้างทางปัญญา (cognitivestructure) หรือที่เรียกว่า Schema โครงสร้างทางปัญญานี้ประกอบด้วยความหมาย หรือความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละบุคคลมีประสบการณ์ อาจเป็นความเชื่อความเข้าใจ คำอธิบายความรู้ของบุคคลนั้น
องค์ประกอบของการเรียนรู้ตามแนวความคิดของกลุ่ม Constructivist
3.4.1 ผู้เรียนสร้างความหมายของสิ่งที่ได้พบเห็น โดยใช้กระบวนการทางปัญญา(Congnitiveapparatus) ของตน ความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่สามารถถ่ายทอดจากครูไปสู่ผู้เรียนได้ แต่จะถูกสร้างขึ้นในสมองของผู้เรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างประสาทสัมผัสของผู้เรียนกับโลกภายนอก โดยผู้เรียนจะใช้ความรู้ ความเข้าใจ ที่มีอยู่เดิมในการคาดคะเน หรือทำนายเหตุการณ์
3.4.2 โครงสร้างทางปัญญา เป็นผลของความพยายามทางความคิด(mental effort) จัดเป็นกระบวนการทางจิตวิทยา หากการใช้ความรู้เดิมของผู้เรียนทำนายเหตุการณ์ได้ถูกต้อง จะทำให้โครงสร้างทางปัญญาของเขาคงเดิม และมั่นคงมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากการคาดคะเนไม่ถูกต้องผู้เรียนจะประหลาดใจ หรือเป็นสภาวะที่เพียเจต์(Piaget) เรียกว่า เกิดภาวะไม่สมดุล(disequilibrium) เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างการคาดคะเนและการสังเกตขึ้น ผู้เรียนมีทางเลือก 3 ทาง คือ
1. ไม่ปรับความคิดทางโครงสร้างทางปัญญาของตนโดยปฏิเสธข้อมูลจากประสาทสัมผัสและหาเหตุผลที่จะหักล้างข้อมูลจากประสาทสัมผัสออกไป จัดเป็นความเฉื่อยชาทางปัญญา (congnitive inertia)
2. ปรับความคิดในโครงสร้างทางปัญญาไปในทางที่คาดคะเนนั้นเป็นไปตามประสบการณ์หรือการสังเกตมากขึ้น ในลักษณะนี้จะเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายขึ้น
3. ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจ
3.4.3 โครงสร้างทางปัญญา เปลี่ยนแปลงได้ยาก ถึงแม้จะมีหลักฐานจากการสังเกตที่ขัดแย้งกับโครงสร้างนั้น
โดยสรุป ผู้เรียนสร้างเสริมความรู้ผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาด้วยตนเอง ครูผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาของผู้เรียนได้ แต่สามารถช่วยผู้เรียนปรับขยายโครงสร้างทางปัญญาได้ โดยจัดสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้น ซึ่งก็คือสภาวะที่โครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้นนั่นเอง
ผู้เรียนจะสร้างความคิดหลักอยู่ตลอดเวลา โดยจะไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนการสอนภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะได้จากสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้การเรียนรู้ตามแนวคิดของ Constructivism จะเกิดขึ้นได้ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการปฏิบัติ (active process) ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคล การสอนโดยวิธีบอกเล่าซึ่งจัดเป็นกระบวนการเชิงรับ (passive process) จะไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดหลักมากนัก แต่การบอกเล่าก็จัดเป็นวิธีให้ข้อมูลทางหนึ่งได้
2. ความรู้ต่างๆจะถูกสร้างขึ้นด้วยตัวของนักเรียนเอง โดยใช้ข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่แล้วจากแหล่งต่างๆ เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสบการณ์เดิมมาเป็นเกณฑ์ช่วยการตัดสินใจ
3. ความรู้และความเชื่อของแต่ละคนจะแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณีและสิ่งที่นักเรียนได้พบเห็น ซึ่งจะถูกใช้เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและใช้เป็นข้อมูลในการสร้างแนวความคิดใหม่
4. ความเข้าใจจะแตกต่างจากความเชื่อโดยสิ้นเชิง และความเชื่อจะมีผลโดยตรงต่อการสร้างแนวคิดใหม่
เนื่องจาก Constructivism ไม่มีแนวปฏิบัติหรือวิธีการสอนที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นนักการศึกษาโดยเฉพาะ นักวิทยาศาสตร์ศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่นำแนวคิดของ “Constructivism” นี้มาใช้ จึงได้ประยุกต์ใช้วิธีการสอนต่างๆที่มีผู้สอนเสนอไว้แล้ว และพบว่ามีวิธีการสอนอย่างน้อย 2 วิธีที่เมื่อนำมาใช้ประกอบกันแล้วช่วยให้แนวคิดของ Constructivism ประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี วิธีการเรียนการสอนทั้ง 2 วิธีดังกล่าวก็คือ การเรียนรู้ด้วยการสืบค้น(Inquiry) ประกอบกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning)
4. หลักการและแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
4.1 ความเป็นมาของแนวคิด
Carl R.Rogers คือผู้คิดค้นและใช้คำว่า “เด็กเป็นศูนย์กลาง” (Child-centred) เป็นครั้งแรกและต่อมามีคำซึ่งแสดงถึงแนวคิดการจัดการเรียนรู้ในลักษณะคล้ายกันอีกหลายคำ เช่น active learning, participatory learning หรือ learner independence แต่คำว่า ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะเป็นคำที่แสดงภาพการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ชัดเจนกว่าคำอื่นๆเพราะเป็นคำที่สามารถบรรยายถึงสิ่งที่เราหวังจะได้ประสบผลสำเร็จ คือ ระบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญ
ครูส่วนมากจะคุ้นเคยกับวิธีการสอนแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นวิธีการที่ครูเคยได้รับการสอนมา หรือ ฝึกฝนมาโดยเป็นวิธีการที่ครูจะถ่ายทอดความเชี่ยวชาญของตนให้กับลูกศิษย์ผู้มีลักษณะเป็นลูกมือคอยรับความรู้และจะเน้นความรู้ความจำและการฝึกฝนมากกว่าเจตคติหรืออารมณ์ความรู้สึก ครูคือผู้มีอำนาจในห้องเรียน ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนจะเป็นไปในลักษณะการเชื่อฟัง การให้รางวัลและการลงโทษ ความไม่ไว้วางใจ ความขัดแย้งและความหวาดกลัวจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนรู้
ครูหลายคนไม่คุ้นเคยกับวิธีการสอนที่หลากหลาย แต่ก็พยายามค้นหาว่าจะมีวิธีการใดที่จะทำให้เขาทำงานกับนักเรียนได้อย่างน่าพึงพอใจและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
แนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับครู หรืออาจไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิผลที่สุด อาจจะมีวิธีการอื่นๆอีกหลากหลายวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป แต่วิธีการ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” คือวิธีการหนึ่งที่มีคุณค่า เพราะเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้ความเชื่อว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตน 100%” บรรลุผล ในวิธีการนี้ผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมเต็มที่ต่อการเรียนรู้ของตน ผู้เรียนแต่ละคนมีคุณค่าสมควรได้รับการเชื่อถือไว้วางใจ แนวทางนี้จึงเป็นแนวทางที่จะผลักดันผู้เรียนไปสู่การบรรลุศักยภาพของตน โดยส่งเสริมความคิดของผู้เรียนและอำนวยความสะดวกให้พัฒนาศักยภาพของตนเองเต็มที่
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นการสอนแบบใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากการสอนดั้งเดิมทั่วไปที่เคยชินกัน ดังเช่นที่ Bennett(1979) ได้เปรียบเทียบการสอนแบบใหม่กับแบบดั้งเดิมไว้ดังนี้
แบบใหม่
1. สอนบูรณาการเนื้อหา
2. ครูมีบทบาทในการชี้แนะประสบการณ์การเรียนรู้
3. ครูกระตือรืนร้นในบทบาทและความรู้สึกของผู้เรียน
4. นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนหลักสูตร
5. กิจกรรมหลักเน้นให้ผู้เรียนค้นพบด้วยตัวเอง
6. ใช้การเสริมแรงหรือให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ ใช้แรงจูงใจภายใน
7. ไม่เคร่งครัดกับมาตรฐานทางวิชาการมากเกินไป
8. มีการทดสอบบ้าง
9. มุ่งเน้นการทำงานเป็นกลุ่มแบบร่วมมือ
10. ไม่ยึดติดกับการเรียนในห้องเรียน
11. มุ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เรียน
12. มุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการ และทักษะด้านจิตพิสัยเท่าเทียมกัน
13. มุ่งเน้นการประเมินกระบวนการเป็นสำคัญ
แบบดั้งเดิม
1. สอนแยกเนื้อหาวิชา
2. ครูมีบทบาทเป็นตัวแทนของเนื้อหาวิชา
3. ครูละเลยเมินเฉยต่อบทบาทของผู้เรียน
4. ผู้เรียนไม่มีส่วนร่วมแม้แต่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักสูตร
5. การเรียนเน้นท่องจำเป็นหลัก
6. มุ่งเน้นการให้รางวัลภายนอก เช่น ระดับผลการเรียน
7. เคร่งครัดกับมาตรฐานทางวิชาการมาก
8. มีการทดสอบสม่ำเสมอเป็นระยะๆ
9. มุ่งเน้นการแข่งขันในการเรียน
10. สอนในเฉพาะขอบเขตห้องเรียน
11. เน้นย้ำประสบการณ์ใหม่เพียงเล็กน้อย
12. มุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการ แต่ละเลยอารมณ์ ความรู้สึก หรือทักษะทางจิตพิสัย
13. ประเมินกระบวนการเล็กน้อย
4.2 แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
มีผู้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในลักษณะที่ให้ความสำคัญสำคัญกับผู้เรียนไว้ดังนี้
ดร.สงบ ลักษณะ กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนที่ควรจะเป็นไว้ว่า ควรเป็นการเรียนการสอนที่นักเรียนได้รับการยอมรับนับถือในการเป็นเอกัตตบุคคล ได้เรียนด้วยวิธีที่เหมาะสมกับความสามารถ ไดเรียนสิ่งที่สนใจ ต้องการ หรือมีประโยชน์ ได้ปฏิบัติตามกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ ได้รับเอาใจใส่ ประเมิน และช่วยเหลือเป็นรายบุคคล และไดรับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และสำเร็จตามอัตภาพ
ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนที่พึงประสงค์ควรเป็นไปเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น
ดร.โกวิท ประวาลพฤกษ์ อธิบายไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตร หมายถึง กระบวนการใดๆที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ เช่น กระบวนการกลุ่ม ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น กระบวนการสร้างความตระหนัก กระบวนการสร้างเจตคติ ฯลฯ
ดร.อัจฉรา วงศ์โสธร กล่าวว่า การเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนการสอนนั้น ครูผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ช่วยเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นโดยการจัดเตรียมเนื้อหา วัสดุ อุปกรณ์ สื่อการเรียนต่างๆให้เหมาะสมกับผู้เรียน ตลอดจนเป็นผู้คอยสอดส่องสำรวจในขณะผู้เรียนฝึก และให้ข้อมูลป้อนกลับ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองและเกิดพัฒนาการขึ้น
รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ได้เสนอหลักในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้โดยเป็นผู้สร้าง(CONSTRUCT) ความรู้ด้วยตนเอง ทำความเข้าใจ สร้างความหมายของสาระข้อความรู้ให้แก่ตนเองและค้นพบข้อความรู้ด้วยตนเอง
2. ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์(INTERACTION) ต่อกันและกัน และได้เรียนรู้จากกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิดและประสบการณ์แก่กันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. ช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาท มีส่วนร่วม(PARTICIPATION) ในกระบวนการเรียนรู้ให้มากที่สุด
4. ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ กระบวนการ(PROCESS) ควบคู่ไปกับ ผลงาน(PRODUCT)
5. ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง(APPLICATION)
ที่มา หนังสือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ผู้แต่ง วัฒนาพร ระงับทุกข์
พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2541 จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด พิมพ์ที่ บริษัท เลิฟแอนด์ลิพเพรส จำกัด